ข่าวการศึกษา

ศธ.เชื่อมต่อนานาประเทศ รวมพลังเสริมศักยภาพนักเรียนไทย

สกู๊ปพิเศษ :  วงล้อการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบการศึกษาไทย กำลังเริ่มต้นหมุนไปข้างหน้า และมีระยะไมล์ในการวิ่งให้เห็นอย่างต่อเนื่อง และเริ่มเห็นเส้นทางสู่เป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งไม่เพียงผลักดันเพื่อการขับเคลื่อนของบุคลากรภายในกระทรวงศึกษาธิการแล้ว การประสานพลังกับภาคเอกชน และการผนีกกำลังกับนานาชาติ ล้วนเป็นการเชื่อมต่อ เพื่อสร้าง “การศึกษายกกำลังสอง” ให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างแท้จริง

“ปลดล็อก ปรับเปลี่ยน เปิดกว้าง” สร้างทุนมนุษย์ของประเทศ

หลังจาก นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ในฐานะ “ซีอีโอ” ได้มอบนโยบายให้กับข้าราชการในกระทรวงศึกษาธิการ ในการมุ่งเน้นให้เกิดการ “ปลดล็อก ปรับเปลี่ยน เปิดกว้าง” เพื่อทำให้ระบบการศึกษาไทย มุ่งเข็มไปสู่การพัฒนาและสร้างทุนมนุษย์ของประเทศ ให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยไม่ใช่แค่เพียงตลาดในประเทศ แต่ยังมองไปถึงตลาดโลก ซึ่งเกิดขึ้นจากผลของความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในโลกศตวรรษที่ 21

โดยในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ความชัดเจนที่ปรากฏ คือ รูปแบบการทำงานของกระทรวงศึกษาธิการ จะเกิดความเชื่อมโยงในการร่วมมือกับภาคเอกชนต่างๆ เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

“กระทรวงศึกษาธิการ และเอกชน ช่วยกันผลักดันเรื่องของหลักสูตร การส่งเสริมด้านข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงาน และการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ”  นายณัฏฐพล กล่าว

ต่างชาติร่วมยกระดับการศึกษาไทย

ในเวทีระดับนานาชาติ เป็นอีกหนึ่งความสำคัญ ที่เห็นภาพชัดเจนในการบริหารงานของนายณัฏฐพล วันนี้คือ การได้รับความร่วมมือจากนานาประเทศ 40 ชาติ ที่พร้อมเพรียงกันเข้ามาหารือและให้การสนับสนุนด้านการศึกษาไทยในหลากหลายรูปแบบ ทั้งที่เป็นตัวแทนของประเทศ และตัวแทนในภาคเอกชน

“ที่ผ่านมา ผมได้หารือและเข้าพบปะท่านทูต 20 ประเทศ และบริษัทต่างชาติยักษ์ใหญ่ รวมกันแล้วมากถึง 40 ประเทศ โดยท่านทูตหลายชาติ และภาคเอกชนยักษ์ใหญ่เหล่านั้น ได้เข้ามาให้การสนับสนุนเบื้องต้นแล้วก็มี ขณะที่บางประเทศมีการลงนามในความร่วมมือระหว่างประเทศอย่างเป็นทางการ หรือ MOU แล้วก็มีเช่นกัน” รมว.ศธ. กล่าว

ต้องมีแรงงานทักษะ-เตรียมพร้อมภาษา

และเมื่อมองอีกหนึ่งนโยบายหลักของกระทรวงศึกษาธิการปัจจุบัน ที่ต้องการพัฒนาการเรียนการสอนของอาชีวศึกษาให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของศตวรรษที่ 21 และส่งเสริมให้อาชีวะเป็นเสมือนแกนหลัก ที่จะช่วยยกระดับเศรษฐกิจของประเทศให้สอดคล้องไปกับนโยบายหลักของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 รวมไปถึงโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่จะส่งเสริมอุตสาหกรรมหลัก 12 กลุ่ม จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีแรงงานที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญรวมไปถึงความพร้อมด้านภาษา

“ญี่ปุ่น อินเดีย จีน” หนุนทุนมนุษย์-AI-อาชีวะ

ทั้งนี้ จากนโยบายดังกล่าว ยังได้รับความตอบรับจากนานาชาติเป็นอย่างดี เริ่มต้นจากประเทศในเอเชีย อาทิ ความร่วมมือจากประเทศญี่ปุ่น ที่มีการส่งผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์เดินทางมาปฏิบัติงานที่ประเทศไทย การจัดตั้งสถาบันไทยโคเซ็น (KOSEN) ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่ผลิตและพัฒนาวิศวกรนักปฏิบัติและนักเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีทักษะความเชี่ยวชาญสูงตามมาตรฐานของโคเซ็นประเทศญี่ปุ่น และยังสนับสนุนทุนการศึกษาด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) หุ่นยนต์

ขณะเดียวกันประเทศไทยพร้อมที่จะรับครูผู้สอนชาวอินเดีย ที่มีความรู้ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เข้ามาร่วมถ่ายทอดความรู้และปฏิบัติงานร่วมกันกับครูผู้สอนชาวไทย

อีกทั้ง ยังมีประเทศจีน ที่กำลังพัฒนาเรื่องของการเรียนการสอนอาชีวะเช่นเดียวกับประเทศไทย โดยจีนมีความพร้อมที่จะให้ความร่วมมือสนับสนุน ทั้งด้านการเรียนการสอน ทุนการศึกษา ไปจนถึงการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยี และทักษะด้านภาษาเพื่อรองรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่เกิดจากการเชื่อมต่อของการคมนาคมแบบไร้รอยต่อ (Seamless Operation) ที่คาดว่าจะมีแนวโน้มของนักท่องเที่ยวชาวจีนเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก

กลุ่มยุโรปส่งสัญญาณหนุนอาชีวะไฮเทค

ด้านฟากฝั่งยุโรป ได้ส่งสัญญาณความร่วมมือในการยกระดับการศึกษาไทยเช่นกัน นับตั้งแต่ความร่วมมือจากประเทศเยอรมนี นายเกออร์ก ชมิดท์ ( H.E. Mr. Georg Schmidt) เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ระบุว่า ยินดีให้ความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีด้านการจัดการเรียนการสอนของอาชีวศึกษา

รวมทั้งการร่วมพัฒนาหลักสูตร เพื่อผลิตบุคลากรให้ตรงตามความต้องการของสถานประกอบการและตลาดแรงงาน และยินดีให้การสนับสนุนการส่งผู้เรียนไปฝึกปฏิบัติงานยังประเทศเยอรมนีในอนาคต

ทั้งนี้ที่ผ่านมา ไทยและเยอรมนีได้มีความร่วมมือมาอย่างต่อเนื่อง โดยสภาหอการค้าเยอรมันประจำประเทศไทย ได้รับนักเรียนนักศึกษาเข้าฝึกประสบการณ์ในสถานประกอบการของเยอรมันในประเทศไทย รวมไปถึงความร่วมมือแบรนด์รถยนต์ระดับโลก

นายณัฏฐพล กล่าวยกตัวอย่างถึงความร่วมมือด้านอาชีวศึกษาของไทยกับประเทศเยอรมนี ว่า ทาง Mercedes Benz ยินดีรับนักเรียนนักศึกษาเข้าฝึกประสบการณ์ในสถานประกอบการของเยอรมันในไทย เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนให้เด็กอาชีวะได้เรียนรู้จากประสบการณ์การทำงานอย่างจริงจัง

ความร่วมมือกับประเทศไอร์แลนด์ในภาคอุตสาหกรรมการบินที่เป็นมาตรฐานระดับโลก และสาขาอื่น ๆ ที่เชื่อมต่อได้กับความร่วมมือจากประเทศโรมาเนีย ที่มีความร่วมมือในโครงการแลกเปลี่ยนนักเรียน และนักศึกษาอาชีวะ ในสาขาที่มีความเชี่ยวชาญ เช่น การวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analysis) และเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) คณิตศาสตร์ (Mathematics) เป็นต้น

สวิสร่วมมือในการพัฒนาทักษะฝีมือ

ทั้งนี้ ความร่วมมือจากนานาประเทศที่ไทยได้รับ ยังได้ไปต่อจนถึงความร่วมมือจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในด้านอาชีวศึกษาในหลายสาขา โดยเฉพาะสาขาธุรกิจการบริการ (Hospitality) คือ การโรงแรม และสาขาเมคคาทรอนิกส์ (Mechatronics) อาทิ การผลิตชิ้นส่วนนาฬิกา ซึ่งมีการสร้างแบรนด์ภายใต้สัญลักษณ์ Swiss Made โดยจัดการเรียนการสอนร่วมกับภาคเอกชน และฝึกอบรมผู้เรียนให้มีประสบการณ์การทำงานในสถานที่จริง (Apprenticeship Training)

ทั้งนี้ สวิตเซอร์แลนด์มีปัจจัยหลักของความสำเร็จในการจัดการเรียนการสอนด้านอาชีวศึกษา คือ ความยืดหยุ่นและหลักสูตรที่สามารถปรับเปลี่ยนตามความต้องการของผู้เรียน ซึ่งทาง ศธ. ก็มีความสนใจริเริ่มความร่วมมือในการพัฒนาทักษะฝีมืออาชีวศึกษา (Hand-Skill Collaboration) เป็นอย่างมาก

ชื่นชม ศธ. รับฟังปัญหานักเรียน

ขณะเดียวกัน นานาประเทศต่างก็ให้ความชื่นชม และสนับสนุนนายณัฏฐพล ที่แสดงบทบาทในการรับฟัง พร้อมแก้ไขปัญหาให้แก่นักเรียนที่ออกมาเรียกร้องเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา การคุกคาม หรือการล่วงละเมิดทางเพศ

“เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ได้กล่าวให้ความชื่นชม ที่ ศธ.เปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงความคิดเห็น และรับฟังสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบการศึกษาปัจจุบัน สะท้อนผ่านนักเรียนในแต่ละระดับชั้น เพื่อร่วมกันพัฒนาการศึกษาไทยอย่างเปิดกว้างและจริงใจ และการจัดทำช่องทางการรับฟังความคิดเห็นที่เกี่ยวกับการพัฒนาการศึกษาอย่างรอบด้าน” รมว.ศธ.กล่าว

สอดคล้องกับความเห็นของนางสาวกีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย หรือยูเอ็น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งบุคคลหนึ่ง ที่เข้าพบ รมว.ศธ. เมื่อวันที่ 21 กันยายนที่ผ่านมา โดยแสดงความเข้าใจ และชื่นชม กรณีที่ ศธ. เปิดโอกาสในการรับฟังความคิดเห็นของนักเรียน ซึ่งเป็นแนวทาง หรือวิธีการแก้ไขที่ไม่เคยได้เห็นบ่อยๆ ที่ใดในประเทศทั่วโลกนี้

ส่งผลดีต่อการพัฒนาของไทยหลังโควิด

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือจากนานาประเทศ ที่ให้ความร่วมมือกับ ศธ. ซึ่งยังไม่นับรวมถึงความร่วมมือในการพัฒนาด้านอื่น ๆ ที่มีอีกมากมายจากหลากหลายประเทศทั่วโลก ที่ทาง ศธ. ได้ดำเนินงานขับเคลื่อนบางส่วนไปแล้วด้วย

หากความร่วมมือทั้งหมดนี้ ได้รับการขับเคลื่อนไปได้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง ภายใต้แนวคิด “ปลดล็อก ปรับเปลี่ยน เปิดกว้าง” เชื่อว่าศักยภาพของระบบการศึกษาไทยและศักยภาพของนักเรียน นักศึกษา ที่จะเติบโตเป็นทุนมนุษย์ที่มีความเข้มแข็ง และส่งผลดีต่อการพัฒนาของประเทศได้ต่อไปในช่วงหลังวิกฤตการณ์โควิด-19 อย่างแน่นอน

 

ที่มา :ศธ 360

Related Articles

Back to top button